การจดจำลายนิ้วมือ (Fingerprint Recognition)

หมวดหมู่: Our Services

Fingerprint Recognition

ลายนิ้วมือ คือข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Identity) หรือไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) นำไปใช้ในเทคโนโลยีสำหรับยืนยันตัวบุคคล โดยผสมผสานเทคโนโลยี ทางด้านชีวภาพ ข้อมูลทางการแพทย์ และเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน และจะได้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลซึ่งแทบไม่มีโอกาสซ้ำกันเลย อีกทั้งธรรมชาติของลายนิ้วมือ เมื่อเสียหาย หรือเป็นแผลร่างกายจะซ่อมแซมลายนิ้วมือให้กลับคืนดังเดิม อ้างอิงจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ คน 600 ล้านคน เมื่อเวลาผ่านไป 300 ปี จะมีโอกาสพบลายนิ้วมือซ้ำกันเพียงแค่คู่เดียว

ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลในชีวิตประจำวันแพร่หลายมากขึ้นเช่น การใช้ข้อมูลผ่านเข้า-ออกอาคารพักอาศัย การตรวจสอบประวัติอาชญากร การใช้ผ่านเข้า-ออกสนามบินทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการใช้แทนรหัสโทรศัพท์ หรือการสแกนนิ้วเพื่อเปิดหน้าจออุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ เป็นต้น

รูปแบบลายนิ้วมือ (Fingerprint Patterns)
เส้นของลายนิ้วมือมนุษย์ มีทั้งเป็นลายร่องลึก และแบบเส้นนูนขึ้น แบ่งได้ 3 ลักษณะ
-แบบมัดหวาย (Loop) เส้นวนคล้ายรูปเกือกม้า มีทั้งแบบวนปัดซ้าย วนปัดขวา บางคนมีมัดหวาย 2 วงประกบกัน
-แบบก้นหอย (Whorl) เส้นวนเป็นทรงกลม บางคนจะมีลายก้นหอยที่ค่อนข้างซับซ้อน
-แบบโค้ง (Arch) เส้นจะเริ่มต้นจากด้านหนึ่งและสิ้นสุดอีกด้านหนึ่ง รูปทรงคล้ายเนินเขาเตี้ยๆ

ดังนั้นเมื่อลายเส้นนิ้วมือมีจุดเริ่มต้น ทิศทาง จุดปลายเส้น ความหนา-บางของขอบเส้น ร่องเส้น ลวดลายโค้งรูปแบบต่างๆ ผสมผสานกัน ทำให้ลายนิ้วมือของแต่ละคนจึงมีรูปแบบไม่ซ้ำกันเลย ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในการนำมาใช้ระบุอัตลักษณ์บุคคล
.
การสร้างฐานข้อมูลและการทำงาน?
เริ่มด้วยการสแกนลายนิ้วมือเพื่อบันทึกฐานข้อมูลการลงทะเบียนครั้งแรกก่อน ซึ่งโปรแกรมเก็บฐานข้อมูลจะถูกออกแบบมาโดยใช้หลักสากลในการสร้างภาพดิจิดอล มีการกำหนดจุดการเชื่อมโยงของจุดต่างๆของลายนิ้วมือโดยละเอียดจนได้แพทเทิร์นลายนิ้วมือดิจิตอลส่วนบุคคลออกมา หลังจากนั้นเมื่อมีการสแกนนิ้วครั้งถัดๆไป ระบบจะทำการเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลลายนิ้วมือดิจิตอลเพื่อตรวจสอบและยืนยันตัวตน หากข้อมูลจับคู่ได้ตรงกัน ระบบจะอนุมัติการยืนยันสำเร็จ .
ตัวอย่างการสร้างจุดบนลายนิ้วมือ                  ตัวอย่างการเทียบจุดบนลายนิ้วมือ
                            ตัวอย่างจุดเมื่อบันทึกเข้าฐานข้อมูล                                    ตัวอย่างการเทียบจุดบนลายนิ้วมือกับฐานข้อมูล
 
การนำเทคโนโลยีจดจำลายนิ้วมือไปใช้
  •   ในชีวิตประจำวัน
    - ใช้ผ่านเข้าออกประตูสำนักงาน (Access Control) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเวลาเข้าออกกับระบบฝ่ายบุคคล และต่อยอดไปได้ถึงการคำนวณค่าล่วงเวลาได้
    - ใช้ผ่านอาคารพักอาศัย อาคารชุด
    - บริเวณที่เข้มงวดเรื่องความปลอดภัย
    - ระบบยืนยันตัวตนบนโทรศัพท์มือถือ (Finger Scan)
    - การปลดล็อคหน้าจอ และ Mobile application ต่างๆ

    ทั้งนี้ใช้เวลาไม่กี่วินาทีช่วยให้ประหยัดเวลาในการยืนยันตัวตนมาก นอกจากนี้ช่วยทดแทนเรื่องการพกพาบัตรเข้าออกประตู บัตร ATM สุดท้ายคุณไม่จำเป็นต้องจำรหัสหลายๆหลักด้วย (พกบัตรพนักงาน แล้วจดรหัสผ่านไว้ด้านหลัง ต้องเลิกแล้วนะคะ ^.^)
  • ในภาครัฐ 
    - เราทุกคนต้องมีลายนิ้วมือในระบบทะเบียนราษฎร์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ใช้ยืนยันว่าเราคือใคร เป็นคนไทยหรือไม่
    - ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการเก็บข้อมูลผู้กระทำความผิดในรูปของลายนิ้วมือดิจิตอล 
    - นอกจากนี้ยังใช้ประกอบการสืบสวน ตรวจสอบลายนิ้วมือที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ โดยนำมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรว่าเป็นลายนิ้วมือเดียวกันหรือไม่ 

    ทั้งนี้นายจ้างบางหน่วยงานคัดกรองผู้สมัครงาน โดยต้องแนบหนังสือรับรองจากสำนักงานทะเบียนประวัติอาชญากรประกอบการสมัครงานด้วย

สรุปได้ว่า เรื่องการจดจำลายนิ้วมือ (Fingerprint Recognition) ใช้กันอย่างแพร่หลายทุกวงการ ทั้งเรื่องเก็บข้อมูลพนักงานเข้าออกสำนักงาน ทำธุรกรรมธนาคาร ตรวจสอบคนเข้าเมือง งานทะเบียนราษฎร์ และเรื่องหลักฐานบุคคลกระทำความผิด

 ส่วนเรื่องระบบ Access Control ใช้เทคโนโลยี Biometrics เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสแกนนิ้ว สแกนหน้า สแกนม่านตา สนใจศึกษาเทคโนโลยีของ  Door Access Control กด Link 

Articles By Orapin

Source:
https://www.scimath.org/article-technology/item/10998-biometric
https://www.innovatrics.com/fingerprint-technology/
https://cja.rsu.ac.th/
https://www.researchgate.net/figure/Samples-of-fingerprint-images_fig4_220485747


12 มกราคม 2568

ผู้ชม 140 ครั้ง

Engine by shopup.com