Door Access Control?
Door Access Control?
ระบบควบคุมการเข้าออกประตูคืออะไร?
ระบบควบคุมการเข้าออกประตู (Door Access Control) คือระบบรักษาความปลอดภัยแบบดิจิทัลที่อนุญาตให้เข้า-ออกอาคารได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น วิธีนี้ช่วยป้องกันการบุกรุก การก่อกวน และกิจกรรมไม่พึงประสงค์ เนื่องจากเป็นระบบดิจิทัล จึงมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบล็อคและกุญแจแบบเดิม ในขณะเดียวกัน ระบบนี้ยังช่วยให้สะดวกขึ้นมาก ไม่ต้องพกกุญแจ หรือปลดล็อกประตูแบบเดิมๆ แค่เปลี่ยนมาใช้คีย์การ์ด ปุ่มกด หรือใส่บาร์โค้ดในแอพมือถือ แค่นี้ก็สามารถเข้า-ออกอาคารได้แล้ว
จำเป็นต้องมีระบบควบคุมการเข้าออกประตูหรือไม่?
แม้ว่าปัจจุบันระบบล็อคและไขกุญแจแบบดั้งเดิมยังมีให้ใช้งานอยู่ แต่ระบบควบคุมการเข้าออกเพื่อความปลอดภัยของประตูนั้นมีประสิทธิภาพสูง และสะดวกมากกว่า ทำไมจึงสรุปได้อย่างนั้น มาดูกันค่ะ
1) ความปลอดภัยระดับสูงขึ้น
กลไกการล็อคสำหรับระบบควบคุมการเข้าออกมีแนวโน้มที่จะปลอดภัยกว่าการล็อคแบบดั้งเดิม สามารถเป็นได้ทั้งแม่เหล็ก ไฟฟ้า และตัวเลือกอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบรักษาความปลอดภัยได้ด้วย เช่น เชื่อมกับระบบกล้องวงจรปิด วิธีนี้เมื่อเราพบคนแปลกปลอมเข้ามาในห้องหรือตัวอาคาร เราสามารถกันไม่ให้หนีออกนอกอาคารได้ พูดง่ายๆคือเขาจะโดนขังอยู่ในห้องใดห้องหนึ่งนั่นเอง
2) ระบบดิจิทัล
โลกนี้เข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มตัวแล้ว ระบบรักษาความปลอดภัยก็เหมือนกัน มันทำให้การจัดการง่ายขึ้นมาก ข้อแรก ผู้ใช้สามารถปลดล็อกประตูได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ปุ่มกดหรือใช้แอ๊พบนมือถือ ข้อที่สอง คุณสามารถเชื่อมระบบควบคุมการเข้าออกประตูกับซอฟต์แวร์ระบบหลังบ้าน และตรวจสอบจากระยะไกลผ่านระบบคลาวด์ได้ (ข้อหลังนี้ แอดมินฯ เคยเห็นบ่อย ๆ ในหนังต่างประเทศค่ะ)
3) ความสะดวก
ผู้ใช้สามารถปลดล็อกระบบควบคุมการเข้าออกได้ง่ายมากเมื่อเทียบกับระบบล็อคและกุญแจแบบดั้งเดิม เลิกพกกุญแจติดตัวไปทุกที่ให้หนักกระเป๋า ส่วนวิธีการเข้าออกมีหลายรูปแบบค่ะ เช่น ใช้บัตรทาบ และ/หรือกดรหัส เปิดปิดประตูด้วยแอ๊พมือถือ ใช้เครื่องสแกนลายนิ้วมือ หรือม่านตา เป็นต้น
ระบบประตูเดียว vs หลายประตู (Single door vs Multi-doors system)
ในอาคารเราสามารถเลือกที่จะควบคุมการเข้าออกประตูเดียว หรือหลายประตูก็ได้ โดยเลือกติดตั้งเฉพาะโซน หรือห้องที่ต้องการความปลอดภัยระดับสูงก่อน ส่วนโซน หรือห้องอื่น ๆ อาจจะใช้ระบบล็อค หรือกุญแจแบบง่ายๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องแลกกับความปลอดภัยในอาคารที่ลดน้อยลงด้วยนะคะ
*Tips ถ้าเป็นบ้านพักอาศัยอาจไม่ซับซ้อนในเรื่องการออกแบบ แต่ถ้าเป็นอาคารใหญ่ต้องวางแผนดีๆนะคะ
ข้อเท็จจริงคือระบบประตูเดียวประหยัดกว่าแน่นอน แต่อาจจะยุ่งยากเมื่ออยากจะเพิ่มจุดในอนาคต หมายความว่า หากคุณเลือกที่จะเพิ่มการควบคุมการเข้าออกให้กับโซน หรือประตูอื่นๆ ในภายหลัง ระบบเดิมที่มีอยู่อาจไม่รองรับ หรือรองรับก็จริงแต่ควบคุมด้วยซอฟต์แวร์ตัวเดียวกันไม่ได้ แล้วถ้าอยากจะควบคุมทุกประตูไว้ในระบบเดียวกันล่ะ แน่นอนจะมีค่าใช้จ่ายในการอัปเกรดซอฟต์แวร์ตามมาอีกเยอะเลย ดังนั้นแอดมินฯแนะนำว่า ตอนออกแบบครั้งแรกให้วางแผนเผื่อขยายด้วยนะคะ โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่รองรับการขยายจำนวนประตูได้ ราคาอาจจะแพงกว่าระบบประตูเดียว แต่มันทำให้คุณเพิ่มประตูได้ในอนาคตด้วยงบประมาณที่สมเหตุสมผลค่ะ
รูปแบบการปลดล็อกประตูประเภทต่างๆ (Entry options)
คุณจะเลือกใช้วิธีไหน ลองพิจารณาเรื่องระดับความปลอดภัย ความสะดวกหรือความเหมาะสมของผู้ใช้ ความยากง่ายในการจัดการระบบหลังบ้าน และงบประมาณนะคะ มีหลากหลายวิธีดังนี้
1) แป้นกด (Keypads) ผู้ใช้จะได้รับรหัสผ่านจากบริษัท เมื่อจะเข้าออกประตูให้ป้อนรหัสที่แป้นพิมพ์เพื่อปลดล็อก
2) เครื่องอ่านบัตร (Proximity readers) เป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด เมื่อจะเข้าออกประตู ผู้ใช้ต้องทาบบัตรคีย์การ์ดที่เครื่องอ่าน (คีย์การ์ดจะถูกลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าแล้ว) บางบริษัทอาจจะเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยโดยใช้ร่วมกับการกดปุ่มรหัส หรือใช้การอ่านบาร์โค้ดเพื่อยืนยันตัวตนจากแอ๊พมือถือร่วมด้วย บางองค์กรอาจทำบัตรประจำตัวพนักงานที่มีรูปถ่าย และเป็นคีย์การ์ดไปด้วยในตัว แบบนี้ยิ่งเพิ่มความปลอดภัยได้ดีเลยค่ะ
3) เครื่องอ่านไบโอเมตริกซ์ (Biometric readers) เครื่องอ่านประเภทนี้จะปลดล็อกประตูให้เมื่อผู้ใช้สแกนลายนิ้วมือ อ่านฝ่ามือ อ่านใบหน้า อ่านม่านตา เป็นต้น วิธีนี้ปลอดภัยที่สุด เพราะเป็นระบบเซ็นเซอร์อัตลักษณ์ของพนักงาน ผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ระบบจึงจะปลดล็อกประตูให้
4) ระบบอินเตอร์คอม (Intercom system) อินเตอร์คอมมักจะใช้ปุ่มกดและระบบเสียงตอบรับร่วมกัน และเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นได้ ด้วยการให้ผู้ใช้ป้อนรหัสผ่าน หรือใช้วิธีโทรหาผู้ดูแลระบบเพื่อยืนยันตัวตน
*Tips ฝากไว้สำหรับผู้ใช้งาน อย่าเผลอทำบัตรหาย หรือให้ผู้อื่นนำไปใช้นะคะ เพราะในบัตรมีการลงทะเบียนข้อมูลประจำตัวผู้ใช้เอาไว้ ในระบบจะสามารถตามแกะรอยได้เมื่อผู้ไม่หวังดีแอบนำบัตรของเราไปใช้ในทางที่ผิดค่ะ
ตัวล็อคมีกี่แบบ (Lock options)
ระบบควบคุมการเข้าออกประตูใช้กลไกการล็อคอัตโนมัติ เมื่อผู้ใช้ที่ไม่ได้รับอนุญาตพยายามจะเปิดประตู ระบบจะไม่ยอมปลดล็อคให้ ตัวล็อคแต่ละประเภทมีดังนี้
1) ล็อคแบบสแตนด์อโลน (Standalone Locks) ล็อคประเภทนี้ทำงานด้วยแบตเตอรี่และปลดล็อคประตูเมื่อผู้ใช้แสดง “วิธีการเข้าที่ถูกต้อง” ข้อดีคือสามารถติดตั้งและใช้งานได้ภายในไม่กี่นาทีและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ข้อเสียคือหากแบตเตอรี่หมด ประตูจะไม่สามารถใช้งานได้ และตรวจสอบสถานะโดยซอฟต์แวร์ไม่ได้ด้วย
2) ล็อคแม่เหล็ก (Magnetic Locks) ล็อคประเภทนี้แข็งแรงกว่าล็อคประตูแบบดั้งเดิม ซึ่งเพิ่มความปลอดภัยให้กับอาคารของคุณ นอกจากนี้ยังมีความทนทานสูง ใช้งานได้ยาวนาน และราคาถูก
3) ล็อคไฟฟ้า (Electric Strike Locks) ล็อคประเภทนี้มีความปลอดภัยน้อยกว่าล็อคแม่เหล็กเล็กน้อย แต่มีความปลอดภัยมากกว่าล็อคแบบสแตนด์อโลน
4) สลักเกลียวไฟฟ้า (Electric Deadbolt) เป็นกลไกการล็อคที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับระบบควบคุมการเข้าออกประตู แนะนำให้ใช้กับอาคารที่มีความปลอดภัยสูง และควรเชื่อมกับซอฟต์แวร์หลังบ้านได้ เพื่อตรวจสอบแบบดิจิทัล และจัดการจากระยะไกลได้
ปุ่มออกประตู (Exit options)
ประตูขาออกจะเชื่อมกับระบบควบคุมหรือไม่ก็ได้ อันนี้ขึ้นกับความจำเป็นของแต่ละองค์กร เวลาจะออกประตูสำนักงาน หรือร้านอาหาร แอดมินฯมักจะเกิดอาการประหม่านะคะ คือไม่รู้ว่าจะกดปุ่มไหนดี หรือเริ่มงงว่าตรงไหนคือทางออกกันแน่ ^.^
เรามาดูวิธีการออกประตูกันค่ะว่ามีกี่ประเภท
1) ปุ่มกด (Push buttons) ติดตั้งปุ่ม “กดเพื่อออก” ด้านในของประตู ซึ่งจะปลดล็อคและให้คุณออกไปได้
2) บาร์จับ (Push bars) ติดตั้ง “แถบบาร์” ไว้ด้านในของประตู เมื่อผลักประตู ระบบจะปลดล็อคให้
3) เซนเซอร์จับการเคลื่อนไหว (Motion sensors) เป็นวิธีการออกที่ไฮเทคที่สุด เมื่อมีคนเข้าใกล้ทางออก และเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวได้ ระบบจะทำการปลดล็อคประตูให้
ตัวเลือกการควบคุม (Control options)
มี 3 วิธีเพื่อใช้ควบคุมการตั้งค่าระบบ ดังนี้
1) กล่องควบคุม (Control Box) เป็นกล่องควบคุมระบบติดตั้งไว้ใกล้กับประตู ซึ่งง่ายต่อการปรับเปลี่ยนการตั้งค่าเมื่อเกิดความจำเป็น แต่แบบนี้เป็นรูปแบบการควบคุมที่ล้าสมัยมาก และไม่ปลอดภัยต่อองค์กรนะคะ
2) IP Network-Attached ระบบควบคุมการเข้าออกประตูส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้ซอฟต์แวร์ที่เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายเน็ตเวิร์กของบริษัท ทำให้คุณสามารถปรับการตั้งค่าระยะไกล และดูรายงานการเข้าออกได้จากคอมพิวเตอร์ของคุณ
3) ระบบที่ทำงานร่วมกับ ODBC (ODBC-Open Database Compliance) ระบบควบคุมการเข้าออกประตูที่เชื่อมกับระบบback office ได้ เช่นเชื่อมกับระบบการรูดบัตรเข้างาน ระบบกล้องวงจรปิด ระบบบัญชีเงินเดือน และระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ แอดมินฯขอสรุปคร่าวๆเป็นแนวคิดเรื่องการทำระบบเข้าออกประตูอัตโนมัตินะคะ ไม่ว่าคุณจะติดตั้งที่บ้าน ที่ห้องชุด ที่อาคารสำนักงาน ขอให้เลือกระบบตามความจำเป็น และเลือกงบประมาณที่เหมาะสมค่ะ ถ้าสนใจให้ทางเราแนะนำ สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ฟรี ตามหมายเลขโทรศัพท์ หรือทักแชตผ่าน social media มาได้ค่ะ
by Orapin/ViewSecure
sources:
https://www.360connect.com/product-blog/door-access-control-system/
12 ม.ค. 2568
ผู้ชม 402 ครั้ง